วัดต้นสน
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110 โทร 032-481094
ประวัติวัดต้นสน เพชรบุรี
เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านแหลม เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านแหลม มีสิ่งสำคัญอันเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแหลม คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากด้านหลังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดยืนเกือบชิดกัน บริเวณหน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรี มีสะพานคอนกรีตสูงทอดข้ามแม่น้ำ มีศาลาไทยริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของหมู่บ้านชาวประมงมีเรือจอดอยู่เรียงรายและมีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่ในวัดและโดยรอบ จึงมีการทำธุรกิจเก็บรังนก โดยการสร้างตึกสูงสำหรับให้นกนางแอ่นมาอาศัย
วัดต้นสน เดิมมีชื่อด้วยกันหลายชื่อ เช่น วัดสนธยา, วัดนอก, วัดนอกต้นสน ที่เรียกกันว่า “วัดต้นสน” จนถึงปัจจุบันนี้ เหตุเพราะเดิมนั้นมีต้นสนขึ้นอยู่กลางวัด จึงถือเป็นนิมิตหมายให้เรียกเป็นชื่อของวัดติดมาถึงทุกวันนี้
เนื่องด้วยไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดต้นสนอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถรู้ถึงปีที่สร้างวัดที่แท้จริง แต่ก็พอ สันนิษฐานได้ว่า การสร้าง วัดต้นสนน่าจะเริ่มต้นนับจากการมีเจ้าอาวาสปกครองวัดแล้ว โดยกำหนดเอาพระอธิการคล้ำเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2326 ถึง พ.ศ.2347 ถ้านับจากปี พ.ศ.2326 ถึงปี พ.ศ.2562 วัดต้นสนจะมีอายุได้ 236 ปีไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ในหนังสือตำนานไทย เขียนโดย นายอาบ ไชยาคำ ได้เขียนถึงเรื่องการสร้างวัดต้นสนไว้ว่า “เมื่อ พ.ศ.2405 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาศรี มาอำนวยการก่อสร้างวังบนเขา เมื่อ พ.ศ.2402 เมื่อเสร็จแล้ว ผู้คนที่เกณฑ์มาใช้การงานยังไม่ได้ปลดปล่อย จึงให้มาทำกระโจมไฟ หรือประภาคารปากทางเข้าอ่าวบ้านแหลม เป็นตึกสี่เหลี่ยมหลังคามุงกระเบื้องสีแดง ตรงกลางมีเสาสำหรับชักโคมกลางคืน มีคนเฝ้า ขณะนั้นปากอ่าวอยู่ใกล้ราวศาลเจ้าโจ้บัดนี้ เมื่อก่อนไม่มี ท่านได้มาปลูกเรือนแพที่ริมน้ำตรงท้องคุ้งสะพานยาวบัดนี้ ระหว่างนั้นท่านก็สร้างวัดต้นสนไปด้วย แต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดนอกหรือวัดปากอ่าวก็ถูกทั้งสองอย่าง”
จากข้อมูลที่เขียนโดย นายอาบ ไชยาคำ สรุปตามความเห็นของท่านว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สร้างวัดต้นสน ใน พ.ศ.2405 ในเรื่องนี้ คุณสุธรรม เงินกอง และคุณมั่นเกียรติ โกศลนิรัติวงษ์ ได้เขียนเรื่องประวัติวัดต้นสนไว้เช่นกัน เมื่อ พ.ศ.2518 โดยไม่เห็นด้วยกับข้อมูลของนายอาบ ไชยาคำ ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรี(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สร้างวัดต้นสน ใน พ.ศ.2505 โดยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
(1) ที่ตั้งกระโจมไฟที่ปากอ่าว
(2) ขณะนั้นปากอ่าวอยู่ใกล้ศาลเจ้าโจ้
(3) วัดที่ท่านสร้างมักปรากฏในประวัติของท่าน แต่ไม่มีวัดต้นสนในประวัติของท่านเลย
(4) ในประวัติหลวงพ่อสัมฤทธิ์กล่าวว่า “เมื่อ พ.ศ.2384 มีคนร้ายลักพาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ไป พระอธิการยังได้ติดตามนำกลับมา” แสดงว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ประดิษฐานที่วัดต้นสนนี้ก่อน พ.ศ.2405
ในการตั้งข้อสังเกตนี้ ผู้เรียบเรียง (ธีร์ พุ่มทับทิม) ขอเพิ่มเติมข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ตามประวัติเจ้าอาวาสวัดต้นสนเริ่มที่พระอธิการคล้ำ ปกครองวัดต้นสนตั้งแต่ พ.ศ.2326 – 2347 ห่างจาก พ.ศ.2405 ถึง 58 ปี จึงเป็นไปได้ยากที่มีเจ้าอาวาสวัดก่อนจะมีการสร้างวัดจะมีขึ้นมา เพราะโดยธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแล้ว ต้องมีวัดขึ้นก่อนจึงจะมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะได้นำวัสดุที่เหลือจากการสร้างพระนครคีรี มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต้นสน ซึ่งเป็นสถานที่จอดพักเรือที่ขนวัสดุสิ่งของก่อนที่จะเดินทางข้ามทะเลกลับยังเมืองหลวงต่อไป
หลวงพ่อสัมฤทธิ์ประดิษฐานที่วัดต้นสน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลาช้านานแล้ว ประวัติที่ถูกต้องแท้จริงเป็นอย่างไรไม่ทราบชัด เพราะไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานมาแสดง ได้แต่เล่าสืบพ่อกันมาบ้าง หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้าง ลักษณะทางพุทธปฎิมากรรมบ้างมาอ้างอิงเพื่อให้สอดคล้องใกล้เคียงกันพอจะเชื่อถือได้
ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ มีรูปลักษณะเป็นแบบสมัยละบุรี เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงประมาณ 87 เซนติเมตร ความกว้างพระอุระ 30 เซนติเมตร เนื้อโลหะทำด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์ เป็นฝีมือการสร้างของมอญ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อสำฤทธิ์เป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนชาวบ้านแหลมและอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ทั้งใกล้และไกลต่างพากันมานมัสการกราบไหว้ เสี่ยงทาย บนบานอยู่เสมอมิได้ขาด ทั้งในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยน้ำพระพุทธมนต์ แคล้วคลาดภยันอันตรายต่างๆ การทำมาค้าขาย การประกอบอาชีพให้เจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านแหลมยึดถือเอาองค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นหลักชัยที่ยึดมั่นประจำใจในการสร้างความดี เพื่อให้ประสพผลสำเร็จเสมอมา ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นประจำในราวกลางเดือน 12 ของทุกปี
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า กษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดีเป็นผู้สร้างพระองค์นี้ ในสมัยนั้นขอมยังเป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิ ขอมกับมอญมีมัมพันธภาพทางเชื้อสายกันอย่างใกล้ชิดอันเชื่อมโยงมาแต่สมัยทวาราวดี เหตุนี้กระมังจึงผูกเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประวัติที่มาของหลวงพ่อสัมฤทธิ์
เมื่อสมัยสงครามมอญกับพม่า สมัยสมเด็จพระเจ้าอนิรุทธมหาราช ราว พ.ศ. 1600 ต้นเหตุแห่งสงครามคือการที่พม่าขอพระธรรมคำภีร์ ไตรปิฎกและพระคณาจารย์ เพื่อนำไปฟื้นฟูพระศาสนาในพม่าซึ่งกำลังเสื่อม แต่ทางมอญขัดข้องอ้างว่าพระคณาจารย์ไม่ยอมไป พม่าจึงยกทัพไปรบมอญ พระสงฆ์ฝ่ายรามัญประเทศได้ขนย้ายและซุกซ่อนพระธรรมคัมภีร์กับพุทธรูปเป็นการใหญ่
คงเป็นเพราะสาเหตุนี้กระมังหลวงพ่อสัมฤทธิ์จึงถูกซุกซ่อนในโพลงมะกอกใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองหลวงหงสาวดี ต่อมาพวกชีผ้าขาวตนหนึ่งได้ไปนั่งพักที่โคนต้นมะมอกซึ่งซ่อนพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ จึงเกิดอัศจรรย์ปาฏิหารย์เป็นแสงสว่างพุ่งออกมา ชีผ้าขาวตนนั้นเห็นเข้าจึงเอาผ้าห่มแบกขึ้นเดินรอนแรมมาจนถึงเมืองสุโขทัย บังเอิญข้ามแม่น้ำเรือเกิดล่มพระองค์นี้จึงจมหายหาไม่พบ ต่อมากล่าวว่าพระปาฏิหารย์ลอยขึ้นมากระทบเรือค้าพลูเข้า พ่อค้าจึงนำไปกับเรือโดยใช้ใบตองปิดคลุมไว้ เที่ยวล่องเรือค้าขายจนกระทั่งมาถึงอ่าวบ้านแหลม จึงนำเรือมาจอดที่ท่าน้ำวัดต้นสน หลวงพ่อสัมฤธิ์ได้ไปเข้าฝันท่านสมภารให้ไปขอซื้อที่เรือพ่อค้าก็ได้ถวายท่านมา พระองค์นี้จึงได้ประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดต้นสนนับแต่นั้นมา